How to use subway services in Korea

วิธีใช้บริการรถไฟใต้ดินในเกาหลี


การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลวงอย่างโซลนั้น สะดวกสบายอย่างมากกับการเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟใต้ดินที่ครอบคลุมทั้งเมือง และมีทั้งหมด 11 สาย แบ่งเป็นสาย 1-9, สาย Bundang และสาย Shinbundang แต่ละสายจะถูกกำหนดด้วยตัวเลขและสี อาทิ สาย 1 สีน้ำเงิน, สาย 2 สีเขียว เป็นต้น ทำให้ง่ายต่อการจดจำและสังเกตในขณะที่้ใช้บริการ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะค่ะ ก็ยังมีนักเที่ยวมือใหม่ ที่กังวลใจกับการใช้บริการรถไฟใต้ดิน หรือ ซับเวย์ (Subway) อยู่ดี ด้วยเพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างขณะใช้บริการ ใครที่เป็นมือใหม่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วค่ะ เพราะในเอนทรี่นี้ มินจะมาอธิบายการใช้บริการรถไฟใต้ดินในประเทศเกาหลี อย่างละเอียดยิ๊บ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยค่ะ


สำหรับการใช้บริการรถไฟใต้ดินนั้น จะสามารถจ่ายค่าโดยสารได้ 2 วิธีคือ Ticket และ Card สำหรับใครที่ต้องการเดินทางแค่ครั้งเดียว สามารถซื้อตั๋วแบบ Single Journey Ticket ได้ที่ตู้อัตโนมัติในสถานี โดยตั๋วแบบนี้จะเป็นตั๋วเดินทางเที่ยวเดียว ที่คิดราคาค่าโดยสารเต็ม คือเริ่มที่ 1350 วอน (ค่าโดยสารจะแปรผันตามระยะทาง หากมีการเปลี่ยนสถานีค่าโดยสารจะบวกเพิ่มลงไป) เวลาซื้อตั๋วก็สามารถมองหาตู้อัตโนมัติหน้าตาแบบนี้ได้เลย



จากนั้นเลือกภาษาอังกฤษก่อน แล้วกดรูปแรกสีส้ม



หน้าถัดไปคือเลือกสถานีปลายทางที่เราจะไป โดยสามารถกดรหัสของสถานีนั้นๆ หรือถ้าไม่รู้ก็กดเสริชได้จากตัวอักษรด้านล่าง (หน้าจอตัวอย่างจะเป็นภาษาญี่ปุ่นนะคะ แต่พอใช้งานจริง กดเลือกภาษาอังกฤษได้เลย) 



สมมติว่าเราจะไปสถานี Myeongdong ก็กดตัว M หน้าจอก็จะขึ้นแบบนี้



กดเลือกเลยค่ะ



เลือกสถานีปลายทางเรียบร้อย หน้าจอก็จะขึ้นบอกค่าบริการคือ 1350 วอน และค่ามัดจำตั๋ว 500 วอน รวมเป็นเงินที่เราต้องจ่าย 1850 วอน (ค่ามัดจำจะได้คืนเมื่อเอาตั๋วมาคืนที่ตู้)


จากนั้นก็ใส่เงินเข้าไปตามจำนวน โดยสามารถจ่ายได้ทั้งธนบัตร และเหรียญ ถ้าใส่เกิน ตู้จะทอนเงินให้ค่ะ




เพียงแค่นี้ก็ได้ตั๋วแบบเที่ยวเดียวมาเรียบร้อยค่ะ


ส่วนสำหรับใครที่ต้องเดินทางหลายครั้ง หรือมาเที่ยวหลายๆ วัน มินแนะนำให้ใช้แบบ Card จะดีกว่า เพราะจะได้ส่วนลดอัตโนมัติในการเดินทางเที่ยวละ 100 วอน (จาก 1350 วอน เหลือ 1250 วอน) แถมไม่ต้องเสียเวลามาซื้อตั๋วเป็นเที่ยวๆ ด้วยค่ะ ซึ่ง Card หรือบัตรโดยสารนั้นก็มีหลายแบบ ที่เบสิคสุดก็คือ T-money Card แบบนี้ ใช้ได้ตลอดไม่มีวันหมดอายุ ไม่ว่าจะมาเกาหลีอีกกี่ครั้ง ก็ใช้ใบเดิมได้ตลอดเลยล่ะค่ะ ซึ่งบัตรทีมันนี่นั้น สามารถซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือตู้อัตโนมัติแบบด้านบนก็ได้ ราคาบัตร (แบบใหม่) 3000 วอน (รวมค่ามัดจำบัตรแล้ว) ซึ่งหากซื้อที่ตู้ ก็กดเลือกรูปสุดท้ายที่เป็นสัญลักษณ์ T-money ได้เลย 


และบัตรทีมันนี่นั้น สามารถเติมเงินใส่บัตรได้เองตามตู้อัตโนมัติในสถานีเช่นกัน (คนละตู้กับตู้ขายตั๋ว) ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าเงินในบัตรจะหมดตอนแตะบัตร เพราะตู้เติมเงินจะตั้งอยู่ก่อนถึงชานชาลาในทุกสถานีเลยล่ะค่ะ เพราะฉะนั้นหากไม่แน่ใจว่าเรามีเงินเหลือในบัตรเท่าไหร่ และเพียงพอต่อการโดยสารต่อหรือไม่ ก่อนจะเดินไปชานชาลา หรือเปลี่ยนสายรถ ก็เช็คที่ตู้ก่อนได้นะคะ ถ้าเหลือไม่พอ ก็เติมเงินได้เลย สะดวกสุดๆ


เอาล่ะค่ะ พอเรามีตั๋วโดยสาร และบัตรโดยสารแล้ว ก็ถึงเวลาใช้บริการเสียที ก่อนจะแตะบัตรผ่านเข้าไปยังชานชาลา เราต้องรู้ก่อนว่ารถไฟฝั่งไหนจะไปทางไหน เพราะรถไฟจะมี 2 ขบวนวิ่งสวนกัน (เหมือนบ้านเรานั่นล่ะค่ะ) เพื่อไม่เป็นการนั่งไปผิดทางผิดทิศ ก็ควรอ่านป้ายที่จะติดบอกตามเสา หรือตามกำแพงแบบนี้ให้ดีก่อน และเลือกให้ถูกฝั่งก่อนจะแตะบัตรเข้าไป เพราะบางสถานีรถไฟทั้งสองขบวนไม่ได้รอที่ชานชาลาเดียวกัน แต่อยู่คนละทิศเลยก็มี นอกจากเสียเวลาเดินวนกลับไปใหม่ในกรณีที่เดินลงมาผิดแล้ว ยังต้องแตะบัตรใหม่ เท่ากับว่าเสียเงินไปฟรีๆ ด้วยนะ


ถ้าไม่รู้ก็มาดูที่แผนที่ก่อนก็ได้นะ เขามีติดบอกไว้ทุกสถานีค่ะ



เมื่อรู้แล้วว่าเราจะต้องเข้าชานชาลาฝั่งไหน ก็มองหาประตูที่กั้นแบบนี้ และเข้าช่องที่ลูกศรสีเขียว ถ้าช่องไหนเป็นสีแดง แปลว่าสำหรับคนที่เดินสวนออกมาค่ะ




แตะบัตรโดยสาร หรือตั๋วโดยสารด้านบนแบบนี้ เพื่อเดินผ่านที่กั้นไปยังชานชาลา


หากบัตรมีเงินพอที่จะผ่านเข้าไปได้ ที่หน้าจอจะขึ้นรูปวงกลมสีเขียวแบบนี้ (ถ้าเงินไม่พอ หน้าจอจะขึ้นกากบาทสีแดง) และตัวเลขด้านล่าง จะบอกค่าโดยสาร และจำนวนเงินที่เหลือในบัตร (ในกรณีใช้บัตรโดยสาร)



สำหรับเด็กที่มีความสูงต่ำกว่าประตูนี้ (หรือต่ำกว่า 6 ปี) ก็สามารถใช้บริการได้ฟรี แต่ถ้าสูงกว่านี้ หรืออายุ 6-12 ปี ต้องซื้อตั๋วหรือบัตรโดยสารสำหรับเด็กค่ะ 


เมื่อผ่านเข้ามาแล้ว ก็เดินตามทางเพื่อไปยังชานชาลาอีกที (หลายๆ สถานีพอแตะบัตรแล้ว ยังต้องเดินตามเส้นทางไปอีกค่อนข้างไกล กว่าจะเจอชานชาลา เพราะฉะนั้น เดินตามๆ เขาไป ไม่ต้องงงค่ะ)



พอเดินลงมาถึงด้านล่าง ชานชาลาที่รอรถไฟใต้ดิน ก็จะพบบรรยากาศแบบนี้ (หรืออาจเจอคนหนาแน่นมากในช่วงตอนเช้าและเย็น แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงช่วงก่อน 8:00 และหลังเลิกงาน)



ทุกชานชาลามักจะมีตู้ขายน้ำอัตโนมัติแบบนี้ด้วย ในสถานีรถไฟใต้ดินที่นี่ ไม่ห้ามการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มใดๆ บนรถไฟค่ะ สามารถกินได้เลย แต่เก็บขยะไปทิ้งด้วยนะคะ


และที่ชานชาลา จะมีป้ายติดบอกทุกอัน ว่ารถไฟขบวนนี้จะไปทางไหน ก่อนจะขึ้นอาจจะดูอีกสักครั้งก่อนเพื่อความชัวร์ก็ดีนะคะ เพราะถ้าขึ้นผิด นอกจากจะงงแล้ว ยังเสียเวลาอีกด้วย วิธีดูคือ ที่เกาหลีจะไม่ได้บอกสถานีปลายทางนะคะ แต่จะบอกสถานีถัดไป เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ด้วยว่าปลายทางที่เราจะไปนั้น มันผ่านสถานีอะไรบ้าง ก็สามารถดูได้จากตารางรถไฟใต้ดินจากแผนที่ในมือ จากแอพพลิเคชั่นในมือถือ หรือจากเว็บไซต์ก็ได้ตามสะดวกค่ะ ยกตัวอย่างในภาพ เช่นตอนนี้มินอยู่สถานี Gangnam-gu Office (รหัสสถานี K213) และมินต้องการจะไปสถานี Seoul Forest (รหัสสถานี K211) จากแผนที่ด้านล่าง จะเห็นว่ามันต้องผ่านสถานี Apgujeong Rodeo ก่อน

คลิกที่ภาพเพื่อขยาย



และจากป้ายที่บอก ลูกศรสีเหลืองชี้ว่า รถไฟขบวนนี้จะวิ่งไปทางสถานี Apgujeong Rodeo (รหัสสถานี K212) แปลว่า มินขึ้นถูกขบวนแล้วล่ะค่ะ (ไม่งงกันใช่มั้ยเอ่ย)


และระหว่างรอรถไฟ ก็จะมีจอคอยบอกว่า รถไฟจะมาถึงสถานีที่เราอยู่ตอนเวลากี่โมง (ในภาพคือรถไฟจะมาเวลา 15:39) รวมถึงบอกด้วยว่ารถไฟที่สถานีนี้ คันแรกและคันสุดท้ายจะให้บริการเวลาเท่าไหร่ค่ะ นั่นก็คือ คันแรกเริ่มเวลา 05:41 และคันสุดท้ายของสถานีนี้คือ 23:55 ซึ่งรถไฟในแต่ละสถานี จะเริ่มและหมดเวลาไม่ตรงกันนะคะ แต่ให้จำไว้โดยประมาณคือ คันแรกเริ่มประมาณ 05:30 และคันสุดท้ายประมาณ 24:00 เพื่อที่จะได้ไม่พลาดรถไฟขบวนสุดท้ายตอนดึกนะคะ (หากเป็นปูซานรถไฟมักจะหมดก่อนในโซล 1 ชม. คือหมดประมาณ 23:00)


ก่อนจะขึ้นรถไฟ ก็ต้องยืนรอหลังเส้นเหมือนบ้านเรา และควรต่อแถวให้เป็นระเบียบด้วยนะคะ อ้อ อาจต้องทำใจนิดนึงว่า คนเกาหลีค่อนข้างจะเร่งรีบมาก ในเวลาเร่งด่วน คนอาจจะเยอะและเบียดเสียดกันมาก รวมถึงเราอาจจะโดนคนด้านหลังดันได้ ก็อย่าไปถือสาให้เสียอารมณ์ เพราะถ้าอยู่ไปนานๆ หลายวัน จะชินไปเองค่ะ 

บรรยากาศบนรถไฟใต้ดิน

ในรถไฟใต้ดินจะมีแผนที่บอกว่ารถไฟขบวนนี้จะผ่านสถานีไหนบ้าง และที่สถานีไหนที่มีห้องน้ำ มันเริ่ดมากจริงๆ เพราะเผื่อมีกรณีฉุกเฉินต้องเข้าห้องน้ำด่วน จะได้รู้ว่าเราลงสถานีใดได้บ้างก่อนถึงปลายทาง


และบนรถไฟใต้ดินที่นี่ ก็มีการกันที่นั่งไว้สำหรับ คนพิการ คนชรา คนท้อง และคนที่มีเด็กเล็ก ด้วยค่ะ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ท้ายๆ ขบวน ที่นั่งตรงนี้ความจริงแล้ว ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าวขึ้นมา เราสามารถนั่งได้นะคะ ไม่ผิดมารยาท แต่ว่าถ้าบุคคลเหล่านี้ขึ้นรถไฟมาเมื่อไหร่ เราต้องรีบสละที่นั่งให้ทันที ส่วนสตรีและเด็ก สำหรับคนที่นี่ ถือว่าเป็นคนแข็งแรงที่ไม่จำเป็นต้องสละที่นั่งให้ก็ได้ค่ะ 




ระหว่างโดยสาร ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะลงสถานีไม่ถูก เพราะบนรถไฟในปัจจุบันนี้ มีเสียงบอกทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่นเลยล่ะ สะดวกกว่าเมื่อก่อนมากๆ รวมถึงมีเสียงบอกด้วยว่า ประตูจะเปิดฝั่งไหน ซ้ายหรือขวา และบางขบวนก็มี Digital Sign Board บอกด้วยเช่นกันค่ะ


และในรถไฟใต้ดินก็มีสัญญาณ Wi-Fi ด้วยนะ (ไม่ฟรี)


เมื่อถึงสถานีปลายทางที่เราจะลงแล้ว ออกจากรถไฟมาก็มองหาป้ายบอกทางออกกันค่ะ ทางออกที่นี่จะเป็นตัวเลข เช่น Exit 1 (บางสถานีจะใช้คำว่า Way Out บางสถานีใช้คำว่า Exit) เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาถึงปลายทางแล้ว เราต้องรู้ด้วยนะคะว่า เราจะออกทางออกไหน เพื่อไปยังสถานที่ที่ต้องการค่ะ ป้ายทางออกก็จะหน้าตาประมาณนี้










ในสถานีจะมีทั้งบันไดธรรมดา และบันไดเลื่อน ซึ่งบันไดที่เกาหลี จะต้องเดิน "ชิดขวา" เสมอนะคะ ตรงนี้ต้องจำให้แม่น เพราะช่องซ้าย ไว้สำหรับคนที่รีบเขาจะวิ่งขึ้นลงบันไดกันค่ะ ถ้าเราไม่รู้แล้วไปยืนขวาง หากมีคนรีบๆ อยู่ด้านหลังเรา โดนด่าไม่รู้ด้วยนะคะ



แต่ถ้าใครมีสัมภาระเยอะ เดินขึ้นบันไดไม่สะดวก หรือมีผู้สูงอายุ คนพิการ เดินทางมาด้วย มินแนะนำให้ใช้ลิฟต์แทนบันได โดยมองหาสัญลักษณ์ลิฟต์ภายในสถานีแล้วเดินตามลูกศรไปเลยค่ะ


หน้าตาลิฟต์ในสถานีรถไฟใต้ดินค่ะ (ส่วนมากมีทุกสถานี)



และที่ถนนก็มีลิฟต์แบบนี้เช่นกัน สามารถลงลิฟต์ไปใต้ดินเพื่อขึ้นรถไฟได้เลย

รวมถึงนี่คือหน้าตาของทางเข้า-ออก สถานีรถไฟใต้ดินค่ะ


  หากจะมองหาสถานีรถไฟใต้ดิน ก็สังเกตป้ายทางออกแบบนี้ก็ได้

คราวนี้มาถึงคนที่ต้องการเปลี่ยนสายรถไฟบ้างนะคะ เมื่อเรานั่งมาถึงสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อแล้ว ก็มองหาป้าย Transfer แบบนี้ เราจะไปต่อรถไฟสายไหน สีอะไร ก็เดินตามป้ายไปเรื่อยๆ เลย ซึ่งการเปลี่ยนสายนี้ จะเดินอยู่ในสถานีนะคะ ไม่ต้องออกไปยังถนนด้านนอก (ซึ่งบางสถานีก็เดินไกลมากกกกกกกจริงๆ แต่ไม่ต้องกลัวหลงหรือหาไม่เจอ เพราะมีป้ายบอกตลอดทาง) 





ตอนขึ้นรถไฟขบวนต่อไปนั้น ก็ทำเหมือนเดิมทุกประการเลยค่ะ ต้องแตะบัตรโดยสารผ่านเข้าไปยังชานชาลาอีกครั้ง หากเราซื้อตั๋วเที่ยวเดียวมา ค่าโดยสารจะบวกไว้แล้ว ก็แตะบัตรเดินผ่านไปได้เลย ยกเว้นว่าเราจะนั่งไปลงสถานีอื่น (ในกรณีที่จะเปลี่ยนใจ) แล้วค่าโดยสารอาจจะแพงกว่าที่เราซื้อมา บัตรโดยสารนั้นอาจจะใช้ไม่ได้นะคะ เพราะเงินไม่พอ เพราะฉะนั้น จะไปลงที่ไหน ก็กดซื้อให้ถูกต้องด้วยค่ะ ส่วนหากใช้บัตรโดยสารอย่างทีมันนี่ ระบบจะหักเงินค่าเปลี่ยนสายอัตโนมัติค่ะ


เมื่อถึงปลายทาง และเดินออกจากประตูกั้นมาแล้ว หากใครที่ซื้อตั๋วเที่ยวเดียวมา แล้วอยากได้เงินมัดจำคืน ก็สามารถเอาตั๋วมาคืนที่ตู้ Deposit Refund Device แบบนี้ ก่อนจะเดินออกจากสถานีไปก็ได้ค่ะ



ทำได้โดยการเสียบตั๋วไปแบบนี้


แล้วก็จะได้รับเงินมัดจำคืนมา 500 วอนค่ะ ส่วนใครที่ซื้อบัตรทีมันนี่ หรือบัตรโดยสารอื่นๆ ที่จะมีการมัดจำบัตรไว้เช่นกัน ถ้าวันสุดท้ายก่อนกลับ มั่นใจว่าไม่ได้ใช้เดินทางอีก และไม่อยากเก็บบัตรไว้ ก็มาคืนบัตรที่ตู้นี้ได้เช่นกัน โดยจะได้เงินที่คงเหลือในบัตรคืน (เงินสดที่เติมไว้) และได้ค่ามัดจำบัตรคืนอีก 2500 วอน (หักค่าธรรมเนียมบัตรไป 500 วอน) แต่ถ้าใครคิดว่าจะกลับมาเที่ยวอีก มินก็แนะนำว่า เก็บบัตรไว้เถอะค่ะ เพราะมันใช้ได้ตลอดแค่เติมเงินใส่บัตรเท่านั้น แถมยังให้เพื่อนยืมใช้ได้ด้วย เผื่อใครมาเที่ยวเกาหลี จะได้ไมต้องเสียเงินซื้อบัตรอีกไง


สุดท้ายก่อนจบเอนทรี่อันแสนยาวเหยียดนี้ มินมีภาพบรรยากาศร้านค้าต่างๆ ภายในสถานีรถไฟใต้ดินที่เกาหลีมาฝากกัน จะเห็นเลยว่า มีครบหมดทั้งร้านขายของ ร้านเครื่องสำอาง ร้านขนมและเครื่องดื่มต่างๆ ให้เราแวะซื้อแวะช้อปก่อนไปเที่ยวหรือกลับจากเที่ยวได้สบายเลยละค่ะ และบอกเลยว่า แม้ในสถานีรถไฟใต้ดินเกาหลี จะมีร้านของกินมากมาย แต่ภายในสถานีสะอาดมาก ไม่มีเศษขยะ ขวดน้ำ แก้วน้ำ วางทิ้งไว้ให้เห็นเลยล่ะค่ะ เพราะทุกคนมีวินัยและมีความรับผิดชอบ เขาจึงไม่ห้ามให้กินอาหารในนี้ยังไงล่ะ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้